การวิเคราะห์และการเปรียบเทียบภาษา

การวิเคราะห์และการเปรียบเทียบภาษา ( Contrastive Analysis หรือเขียนย่อว่า CA )  เป็นสาขาหนึ่งของภาษาศาสตร์ประยุกต์และเป็นพื้นฐานของวิชาภาษาศาสตร์ทั่วไป ซึ่งเป็นการหาความแตกต่างระหว่างสองภาษาหรือมากกว่านั้น แต่ส่วนมากเป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบระหว่างสองภาษามากกว่า  โดยนักภาษาศาสตร์โครงสร้างเป็นผู้นำกลวิธีเปรียบเทียบภาษานี้มาเป็นเครื่องช่วยผู้สอนภาษาในด้านการชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดในการเรียนภาษา  การวิเคราะห์เปรียบเทียบสามารถทำได้ตั้งแต่เรื่องระบบเสียง  ( Phoneme ) หน่วยคำ ( Morpheme) ประโยค ( Sentence ) คำศัพท์ ( Vocabulary )  วัฒนธรรมทางด้านภาษา ( Culture )  รวมทั้งความคิด (  Concept ) ตลอดจนสิ่งที่กำหนดความคิด ( Condition )  ระหว่างภาษาที่เปรียบเทียบนั้นเพื่อนำลักษณะแตกต่างที่ได้จากการวิเคราะห์และเปรียบเทียบมาปรับปรุงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ  โดยก่อนจะนำทฤษฎีภาษาศาสตร์แบบใดมาประกอบการวิเคราะห์  ผู้วิเคราะห์จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีรากฐานสากลของภาษาใด ( Underlysing Linguistic Universal ) ในรูปใดบ้างที่รวมกันอยู่ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่กำลังศึกษาภาษาต่างประเทศนั้น ๆ รู้จักวิธีการแทนที่ภาษา  ( Transfer )  ได้ถูกต้องและช่วยลดการแทรกแซง ( Intreferance ) ของภาษาที่ 1 เข้าสู่ภาษาที่ 2   ซึ่งมักพบในการเรียนเรื่องเสียง หรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามลักษณะซับซ้อนภายในระบบของภาษาเอง ( Intralingual ) หรือเกิดจากกระบวนการพัฒนา  ( Development )   ของผู้เรียนเองซึ่งปัญหาส่วนนี้มักเกิดในการเรียนเรื่องระบบไวยากรณ์และศัพท์เท่านั้น
การวิเคราะห์และเปรียบเทียบภาษา  ( Procedures For CA ) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้  คือ  วิธีการของ Randal L. Whitman ( 1970)  ซึ่งมีอยู่  4 ขั้นตอน  คือ
  1. Description  การเขียนคำบรรยายลักษณะของทั้ง  2 ภาษา
  2. Slection  การเลือกรูปแบบเพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกัน
  3. Contrast  การเปรียบเทียบรูปแบบที่ได้เลือกไว้
  4. Predict  การทำนายข้อยุ่งยากหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการเรียนภาษาจากพื้นฐานของการเปรียบเทียบนั้น ๆ
คำว่า  “ ภาษา ”  นักภาษาศาสตร์ให้ความหมายไว้ว่า  เสียงที่มีระเบียบที่เราใช้ในการสื่อสารกัน ภาษาพูดหมายถึง เสียง  ภาษาเขียน หมายถึง ตัวอักษร  จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์ภาษาก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของภาษา  ความเข้าใจก็ย่อมทำให้เกิดประโยชน์ในตัวอยู่แล้ว  ความเข้าใจในลักษณะที่แท้จริงของภาษาจะช่วยให้เราเขียนตำราได้และนำไปใช้ในการพูด ฟังหรืออ่านได้เป็นอย่างดี  และสำหรับการสอนภาษาต่างประเทศ  ถ้าจะสอนให้ได้ดี  ผู้สอนจะต้องรู้จักลักษณะของภาษาอย่างน้อย  2  ภาษา  และลักษณะที่เป็นข้อแตกต่างมักเป็นปัญหาในการเรียนการสอนเสมอ
การศึกษาวิเคราะห์ภาษาที่สมบูรณ์นั้น  จะต้องศึกษาเกี่ยวกับเสียง  ( Phonology )  คำ ( Morphology )  ประโยค ( Syntex ) และความหมาย ( Semantics )  ทุกเรื่องต่างก็มีความสัมพันธ์กันเพราะเสียงประกอบกันเป็นคำเมื่อนำคำมาเรียบเรียงให้ถูกต้องตามลักษณะไวยกรณ์ก็จะเป็นประโยค  ทั้งคำและประโยคจะมีความหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง  ฉะนั้นความหมายจะเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง   เมื่อหน่วยเสียง ( Phoneme ) ต่าง ๆ มาประกอบกันเป็นหน่วยคำ ( Morpheme )   หน่วยคำในภาษาต่าง ๆ ยังมีลักษณะแตกต่างกันไปตามลักษณะของภาษานั้น ๆ  คำที่ใช้ในภาษาอาจจะมีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์แต่ต้องมีความหมาย คำที่มีหลายพยางค์ซึ่งเป็นพยางค์ที่มีความหมาย และในแต่ละพยางค์อาจมีความหมายด้วย คำในลักษณะเช่นนี้อาจเรียกว่า “คำประสม” ถ้าแต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย   พยางค์เหล่านั้นก็ไม่มีลักษณะเป็นหน่วยคำ
                ลักษณะของหน่วยคำในแต่ละภาษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะของภาษาว่าเป็นภาษาตระกูลใด  หน่วยคำของภาษาในแต่ละตระกูลจะแตกต่างกันออกไป  ดังต่อไปนี้
                1.  ภาษาคำโดด  (Aralytic หรือ Isolating Language)   คำในภาษาตระกูลนี้จะเป็นอิสระในตัวเอง จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเมื่ออยู่ในประโยค  ไม่ว่าในตำแหน่งใดก็ตาม  ลักษณะของหน่วยคำจะเห็นได้อย่างชัดเจน  เช่น  ภาษาไทย และภาษาจีน  สำหรับหน่วยคำในภาษาไทยแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณะที่เราจะศึกษาพิจารณา
                1)  ประเภทหน่วยคำอิสระ ( Free morpheme ) และหน่วยคำไม่อิสระ ( Bound  morpheme ) หน่วยคำอิสระ คือ หน่วยคำที่ปรากฏหน่วยคำที่ปรากฏตามลำพังได้และมีความหมายชัดเจนโดยไม่ต้องผูกพันกับคำอื่น  อาจมีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์  ส่วนมากหน่วยคำในภาษาไทยมักเป็นหน่วยคำประเภทนี้  เช่น พ่อ  แม่   ลูก
                ส่วนหน่วยคำไม่อิสระหรือคำผูกพัน  คือ  หน่วยคำที่ไม่สามารถเกิดตามลำพังได้  ต้องรวมอยู่กับหน่วยคำอื่นเสมอแต่ตัวเองก็มีความหมายและเมื่อรวมกับคำอื่นแล้ว  ความหมายใหม่ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับความหมายเดิมอยู่  เช่น  นัก - ใช้ในคำว่า  นักเขียน  นักประพันธ์  ชาว -  ใช้กับคำว่า  ชาวนา  ชาวสวน  หรือ  การ - , ความ - , ผู้ - , หมอ -, - ศาสตร์ , - กระ  คำเหล่านี้มีความหมายในตัวเอง  แต่ใช้ตามลำพังไม่ได้ต้องเกิดกับหน่วยคำอื่น
                2)  แบ่งเป็นหน่วยด้านความหมาย ( Lexical Morpheme ) และหน่วยคำด้านไวยากรณ์ 
(Grammatical Morpheme)
หน่วยคำด้านความหมายเป็นคำที่มีความหมายชัดเจนในตัวเอง  เช่น  หู  ตา  จมูก  ปาก  พ่อ  แม่ 
หน่วยคำด้านไวยากรณ์  เป็นหน่วยคำที่ไม่มีความหมายในตัวเองเด่นชัด  นอกจากจะนำไปใช้รวมกับคำอื่นๆโดยเฉพาะประโยค  จะช่วยให้ความหมายเด่นชัดด้านไวยากรณ์  ลักษณะของหน่วยคำประเภทนี้อาจไม่ค่อยเด่นชัดในภาษาที่มีวัตติปัจจัย  เช่น  ภาษาอังกฤษ  หน่วย – S ใน Boys จะแสดงความเป็นพหูพจน์  หรือหน่วยคำ -ed ในประโยค  worked จะแสดงความเป็นอดีตกาล  ในภาษาไทยเราลักษณะของหน่วยคำเช่นนี้อาจเป็นคำว่า  “แล้ว”  ฉันกินข้าวแล้ว  ที่แสดงความเป็นอดีตกาล  หรือคำว่า  หลาย  ในวลี  นักเรียนหลายคน  ที่แสดงความเป็นพหูพจน์ เป็นต้น
3)  แบ่งเป็นหน่วยคำที่เป็นรากคำ ( Root ) และหน่วยคำเชื่อม ( Affix )
หน่วยคำนี้เป็นรากคำ  (Root)  เป็นหน่วยคำที่มีความหมายซึ่งอาจจะรวมอยู่กับหน่วยคำอื่นซึ่งอาจจะเป็นรากคำด้วยกันหรือเป็นหน่วยคำเติมที่เป็นรากคำด้วยกัน  ได้แก่  คำประสมของไทย  เช่น  โรงเรียน  น้ำปลา  จิตใจ  เป็นต้น  ส่วนที่เป็นคำเดียวโดด ๆ มีลักษณะเป็นรากคำเช่นกัน  เช่น  เช้าเย็น  เด็ก  ไก่  เป็นต้น
หน่วยคำที่เป็นคำเติม (Affix) เป็นหน่วยคำที่มีลักษณะคล้ายหน่วยคำไม่อิสระ (Bound Morpheme)  มีความหมายในตัวเองแต่ต้องรวมอยู่กับหน่วยคำอื่น  เช่น  นัก - , หมอ –
ลักษณะการวิเคราะห์ด้วยหน่วยคำประเภทที่เป็นรากคำและคำเติมนี้ไม่เหมาะที่จะนำมาวิเคราะห์ภาษาไทย  เพราะลักษณะของภาษาไทยไม่เกี่ยวข้องกับรากคำและคำเติม  นอกจากคำที่ยืมมาจากคำบาลีสันสกฤต  แต่ที่จะนำมากล่าวก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงการศึกษาหน่วยคำแบบหนึ่งซึ่งอาจจะอนุโลมใช้ศึกษาภาษาไทยได้ในลักษณะดังกล่าว
                2.  ภาษามีวัตติปัจจัย  (Inflectional Language)  คำในภาษาตระกูลนี้จะสังเกตุได้ยากกว่าภาษาคำโดดเพราะลักษณะของคำจะต้องประกอบด้วย  รากคำ ( Root) กับคำเติม ( Aiffix) คำเติมนี้อาจทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลง  หรืออาจเปลี่ยนเพศ  พจน์  บุรุษกาลและอื่น ๆ  เช่น ภาษากรีก  ละติน  บาลีสันสกฤต
                3.  ภาษาคำติดต่อ  (Agglutinative Language) คำในภาษาตระกูลนี้มีลักษณะเหมือนกับภาษามีวิภัตติปัจจัย  คือ  จะต้องประกอบด้วย รากคำ ( Root) กับคำเติม ( Aiffix) เช่น  ภาษาตุรกี  ตากาลอค 
( ฟิลิปปินส์ )  อินเดียนแดง
4.   ภาษาคำควบหลายพยางค์ (Polysynthetic Language)  ลักษณะของคำในตระกูลนี้
คล้ายคลึงกับภาษาติดต่อ  ต่างกันที่ว่าภาษาติดต่อหนึ่งคำอาจมีหลายหน่วยคำ  คือหน่วยคำที่เป็นรากคำ (Root) และหน่วยคำที่เป็นคำเติม (Affix) ซึ่งจะสังเกตหน่วยคำได้จากการเปรียบเทียบประโยคที่มีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อย  เช่น  ภาษาชาวเอสกิโม  เวราครูซ 

พยางค์ในภาษาไทย

            เมื่อกล่าวถึงลักษณะคำภาษาไทย สามารถกล่าวโดยสรุป ได้ดังนี้
  1. คำแต่ละคำเป็นพยางค์เดียวและไม่มีเสียงควบกล้ำ
  2. คำแต่ละคำถือเป็นคำสำเร็จรูป เพราะมีความหมายสมบูรณ์ใช้เข้าประโยคได้ทันที โดยไม่ต้องมีการตกแต่งหรือเปลี่ยนแปลงส่วนใดๆของคำ เพื่อบอกความสัมพันธ์ระหว่างคำในประโยค
  3. คำคำเดียวกันอาจมีหลายความหมาย ใช้ได้หลายหน้าที่โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปคำเลย จะรู้ความหมายและหน้าที่ได้ก็ด้วยดูตำแหน่งในประโยค
                พยางค์ (Syllable) หมายถึง เสียงที่เราเปล่งออกครั้งหนึ่งๆ โดยพยางค์อาจมีความหมายหรือไม่มีก็ได้ 
                หน่วยคำ  ( Morpheme )  หมายถึง  หน่วยที่เล็กที่สุดที่มีความหมาย
                หน่วยเสียง  ( Phoneme )  หมายถึง  หน่วยที่เล็กที่สุดในหน่วยคำ  ซึ่งไม่สามารถแบ่งย่อยได้อีกแล้ว
ตัวอย่างเช่น “น้ำปลา”  คือ น้ำสำหรับปรุงรสอาหารให้เค็ม  ทำจากปลาหรือสิ่งอื่น ๆ  คำนี้เป็นคำประสมระหว่างหน่วยคำ คือ น้ำ และ ปลา  ทั้งสองหน่วยคำต่างก็มีความหมาย  มีลักษณะเป็นหน่วยคำได้โดยเอกเทศ  คำว่า “น้ำปลา”  นี้เป็นคำประเภทที่มี 2 พยางค์ คือ น้ำและปลา  ต่างก็มีความหมายที่เกี่ยวพันกับความหมายของคำประสม  น้ำปลาจึงเป็นคำที่มี 2 หน่วยคำ และ 2 พยางค์
                “มะละกอ” หมายถึง  ผลไม้ชนิดหนึ่ง  คำนี้มี 3 พยางค์  คือ มะ ละ และกอ  แม้บางพยางค์จะมีความหมายแต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหมายใหม่  มะละกอจึงเป็นคำที่มี 1 หน่วยคำ และ 3 พยางค์
                ในภาษาไทย  คำหนึ่งคำ  อาจประกอบด้วยหน่วยคำ  1  หน่วยคำ  หรือหลาย ๆ หน่วยคำก็ได้  เช่น
                เดิน       =  1  คำ                  1  หน่วยคำ             1  พยางค์
                นักเดิน   =  1  คำ                  2  หน่วยคำ             2  พยางค์
                นาฬิกา    =  1  คำ                  1  หน่วยคำ             3  พยางค์
                คำที่เป็นชื่อผักและผลไม้ต่าง ๆ มีปัญหาว่าจะถือเป็นหน่วยคำเดียวหรือหลายหน่วยคำ  เช่น มะละกอ  มะม่วง ฯลฯ  ตามหลักภาษาศาสตร์  คำเหล่านี้ถือว่าเป็นคำอิสระและเป็น  1 หน่วยคำเพราะแยกออกมาไม่มีความหมาย  เช่น   “กะเฉด”  ประกอบด้วย 2  พยางค์  คือ กะ และ เฉด  ถือเป็นหนึ่งหน่วยคำ  เพราะคำว่า กะ  และ  เฉด  ไม่ได้แสดงหน้าที่ของไวยากรณ์และไม่เกี่ยวข้องกับความหมายใหม่แต่อย่างใด  คำว่า  มะละกอ  หรือ มะม่วง  ก็สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลนี้

พยางค์ในภาษาเวียดนาม

                พยางค์ในภาษาเวียดนามมีจุดกำเนิดทางภาษาศาสตร์ที่ต่างจากภาษาไทย เราจะสังเกตข้อแตกต่างนี้ได้จากคำนิยามต่อไปนี้  
                พยางค์ (Âm tiết) หมายถึง หน่วยเสียงที่เล็กที่สุดที่เปล่งออกมาตามธรรมชาติ ในพยางค์หนึ่งๆอาจประกอบจากหนึ่งหน่วยเสียงหรือหลายหน่วยเสียง
                หน่วยคำ (Hình vị) หมายถึง หน่วยทางความหมายที่เล็กที่สุด
                หน่วยเสียง (Âm vị) หมายถึง หน่วยที่เล็กที่สุดทางภาษาศาสตร์ที่สามารถมีได้ โดยหน่วยเสียงนี้ไม่สามารถแยกให้เล็กลงได้กว่านี้แล้ว
                ตัวอย่างประโยคเช่น Chúng ta (พวกเรา) là (เป็น) sinh viên (นักศึกษา) เมื่อพิจารณาตามหน่วยทางความหมายที่เล็กที่สุดจะได้ 5 หน่วยคำ และเมื่อพิจารณาตามการเปล่งเสียงออกมาจะได้ 5 พยางค์ จะเห็นได้ว่าจำนวนพยางค์และหน่วยคำในประโยคนี้มีจำนวนเท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาตามหน่วยคำหรือพยางค์ต่างก็มีความหมาย จึงสามารถกล่าวได้ว่าพยางค์ในภาษาเวียดนามก็คือรูปแบบที่แสดงออกมาในรูปของหน่วยคำนั่นเอง พยางค์และหน่วยคำในภาษาเวียดนามจึงเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกัน ส่วนในเรื่องของหน่วยเสียง พยางค์ในภาษาเวียดนามสามารถเกิดขึ้นได้จากหน่วยเสียงสระเพียงหน่วยเสียงเดียว เช่น คำว่า u, o หรือ y ซึ่งล้วนเป็นคำที่มีความหมายคือ แม่ ร่ม และมัน ตามลำดับ หน่วยเสียงจึงสามารถเป็นทั้งหน่วยคำและพยางค์ในภาษาเวียดนามได้
                สรุปได้ว่า ในภาษาเวียดนามไม่มีหน่วยเสียงอย่าง /a/ หรือ /u/ เพราะหน่วยเสียงเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยคำและพยางค์ ดังนั้น ในภาษาเวียดนามเรื่องของพยางค์ หน่วยเสียง และหน่วยคำจึงเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกันทั้งในด้านจำนวนและบทบาทของตัวมันเองอย่างแยกจากกันมิได้

โครงสร้างพยางค์ในภาษาไทย พยางค์ในภาษาไทยมี 3 ลักษณะตามการประสมอักษร ดังนี้

  1. การประสมแบบ 3 ส่วน ได้แก่ พยางค์ในแม่ ก.กาทั้งหมด
-     พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ เช่น กา ม้า
  1. การประสมแบบ 4 ส่วน มี 2 แบบ คือ
-  ประสมแบบ 4 ส่วนปกติ ได้แก่ พยางค์ที่มีตัวสะกดในมาตราทั้ง 8 คือ แม่กก กด กบ กง กน กม เกย เกอว เช่น กิน มัน รัก
-  ประสมแบบ 4 ส่วนพิเศษ ได้แก่ พยางค์ที่ไม่มีตัวสะกดแต่มีการันต์เพิ่มเข้ามา เช่น สีห์ เล่ห์
  1. การประสมแบบ 5 ส่วน คือ พยางค์ที่มีตัวสะกดและตัวการันต์ เช่น ศูนย์ พันธ์
สามารถสรุปโครงสร้างของพยางค์ในภาษาไทยได้ 4 แบบ ดังนี้
  1. พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์
  2. พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด
  3. พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + การันต์
  4. พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด + การันต์

2 ความคิดเห็น:

  1. ถนนหนทางสู่สนามบินสุวรรณภูมิ

    ตอบลบ
  2. ลงรายละเอียดได้ลึกซึ้งดีมากครับ แม้ไม่ค่ายมีผู้นสนใจผ่านมาอ่านมากนัก สำหรับผมที่บังเอิญผ่านมาเจอแล้วของชื่นชมผู้เขียนที่ใส่เนื้อหารายละเอียดดีขนาดนี้ แต่รู้สึกเหมือนภาษาอังกฤษในวงเล็บอาจจะมีสะกดผิดบ้างรึปล่าวไม่รู้นะครับ

    ตอบลบ